มนุษย์เงินเดือนป้ายแดง งานประจำ

รถยนต์ใหม่ป้ายแดงมีต้นทุนในการดูแลน้อยที่สุด ไม่ต้องคิดอะไรขับอย่างเดียวไม่มีเรื่องจุกจิกปัญหากวนใจ แต่ละปีที่ผ่านไป จะมีต้นทุนในการดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบทวีคูณ และรถจะหมดสภาพในปีที่ 7-10
ในมุมมองเดียวกัน สำหรับ งานประจำมนุษย์เงินเดือนป้ายแดง มีต้นทุนในการดูแลตัวเองน้อยที่สุด อยู่ประมาณ 10-15 ปี และจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบทวีคูณ จากสุขภาพที่แย่ลงเรื่อยๆทุกปี และต้นทุนหนี้สินที่สร้างขึ้นเองจาก บัตรเครดิต รถ บ้าน และครอบครัว ซึ่งอยู่นอกขอบเขตการดูแลของผู้ให้เงินเดือน แต่รวมเป็น #ต้นทุนชีวิตมนุษย์เงินเดือน
กว่าจะได้เป็นมนุษย์เงินดือนป้ายแดง ต้องผ่านทั้งคู่แข่งจำนวนมาก การสัมภาษณ์สุดโหด จนได้สัมผัสกับคำว่ามั่นคง มีเงินเดือนประจำ แต่ถ้าจะเติบโตให้ได้เหนือกว่าคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีวิธีการเฉพาะ เงินเดือนประจำจะปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือที่เรียกว่าการปรับแบบเส้นตรง ยกเว้นในกรณีที่มีการย้ายงานอย่างเหมาะสม จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีเสมอของการปรับเงินเดือนได้แบบก้าวกระโดด และหากอยู่ในที่เดิมต่อเนื่อง ก็จะกลับไปเติบโตแบบเส้นตรงอีกครั้ง เงินเดือนประจำมีวิวัฒนาการได้หลากหลาย สรุปได้เป็น เงินเดือน 6 เจเนอเรชัน
จนถึงจุดหนึ่งเส้นกราฟของต้นทุนชีวิตมนุษย์เงินเดือน กับเส้นกราฟของรายได้จะตัดกันในที่สุด ขอเรียกจุดนี้ว่า จุดไม่คุ้มอย่างสิ้นเชิงของการเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เดิมมีการออกแบบไว้ว่าอยู่ที่อายุ60ปี หรือคือวันเกษียณ แต่จุดที่ว่านี้ เลื่อนขยับหดสั้นลงมาทุกๆปี ในอัตราเร่ง ผมคาดเดาว่าจุดไม่คุ้มอย่างสิ้นเชิงในการเป็นมนุษย์เงินเดือนเฉลี่ยน่าจะอยู่แถว ๆ อายุ 48 ปี +-
เราจึงต้อง มีวิธีคิดใหม่ วางแผน ทำอะไรเพิ่มเติม เพื่อเป็นการรับประกันอนาคตของเราเอง เพราะงานประจำทุกวันนี้ก็ไม่เหมือนก่อน โควิด ยิ่งเป็นตัวเร่ง จนอดที่จะคิดไม่ได้ว่า อนาคตเงินเดือนประจำจะยังเหมือนเดิมอยู่ไหม วันเกษียณไม่ได้หมายความว่า จะอยู่ที่ 60ปี อีกต่อไป แต่อาจเป็นวันที่เรามีอิสรภาพทางการเงิน หรือวันที่เราตกงานก็ได้ คงไม่มีใครดูแลชีวิตของเราได้ดีไปกว่าตัวของเราเอง
ด้วยความปรารถนาดีและจริงใจ
นพรัตน์ ทองศักดิ์
Responses
You must log in to post a comment.